การมาของ Rocketman หนังซึ่งดัดแปลงจากชีวประวัติของนักร้องดัง เอลตัน จอห์น ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกนำไปเทียบกับหนังชีวประวัติของเฟรดดี้ เมอคิวรี่ และวง Queen อย่าง Bohemian Rhapsody ที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัลไปเมื่อปีก่อน ถึงแม้ทั้งสองเรื่องจะเป็นหนังเกี่ยวกับบุคคลชื่อดังในแวดวงดนตรี และมีหลายประเด็นที่ถูกพูดถึงในหนังคล้ายๆ กัน แต่โดยรวมแล้วหนังทั้งสองเรื่องถือว่าแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะลักษณะการเล่าเรื่อง ซึ่ง Bohemian Rhapsody ใช้วิธีการเล่าเรื่องตามแบบฉบับของหนังชีวประวัติทั่วๆ ไป ต่างจาก Rocketman ที่ฉีกแนวด้วยการเล่าเรื่องไล่เรียงตามช่วงเวลาผสมกับความเป็นแฟนตาซีและหนังเพลงเข้าไปเพื่อสื่อถึงอารมณ์ของตัวละครเอกในช่วงเวลาหรือเหตุการณ์นั้นๆ ราวกับว่าเป็นการ “พูดเปิดอก” เรื่องราวต่างๆ ของตัวเอลตัน จอห์นเองให้แก่ผู้ฟัง(ซึ่งก็คือคนดูด้วย) ตามฉากเปิดของเรื่อง

หนังเล่าเรื่องราวของเอลตัน จอห์น ตั้งแต่ช่วงวัยเด็กที่ยังใช้ชื่อเดิมว่า เรจินัลด์ ดไวท์ เด็กหนุ่มขี้อายที่ค้นพบพรสวรรค์ด้านการเล่นเปียโนของตัวเอง , ช่วงวัยหนุ่มที่พยายามดิ้นรนจากการเป็นนักดนตรีแบ็คอัพ สู่การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลเพื่อทิ้งตัวตนในอดีต แล้วผันตัวมาเป็นนักนักร้อง,นักแต่งเพลงร่วมกับ เบอร์นี ทอพิน นักแต่งเนื้อเพลงซึ่งเป็นทั้งเพื่อนซี่และเพื่อนร่วมงานคู่บุญ และช่วงเวลาที่รุ่งสุดขีด นำพาชีวิตของเขาสู่วังวนสุรา ยาเสพติด จนทุกอย่างเริ่มดำดิ่งสู่ขาลง
แม้ทั้งสามช่วงเวลาจะมีเหตุการณ์และอารมณ์ที่ค่อนข้างแตกต่างกันไป แต่อารมณ์หนึ่งที่แฝงอยู่ในทุกช่วงเวลาและค่อนข้างที่จะชัดเจนกว่าอารมณ์อื่นๆ คือความรู้สึกขมขื่นของตัวเอลตัน จอห์น ที่เกิดจากการไม่เคยได้รับ “ความรัก” จากคนที่อยู่ใกล้ตัว ตั้งแต่วัยเด็กที่ต้องรอคอยความรักจากครอบครัว โดยเฉพาะพ่อผู้ซึ่งไม่เคยแสดงความรักแก่เขาเลย , รักข้างเดียวที่มีต่อเพื่อร่วมงานอย่างเบอร์นี ทอพิน ซึ่งเป็นได้เพียงแค่เพื่อนกันเท่านั้น และหนุ่มหล่อ จอห์น รี้ด ผู้จัดการส่วนตัวและคู่รักแบบลับๆ ของเอลตัน ที่ใช้ความรักและเสน่หาเข้าหลอกล่อ เพียงเพื่อที่จะหาผลประโยชน์จากเอลตันเท่านั้น จนทำให้เอลตันค่อยๆ สิ้นหวัง ดำดิ่งสู่ชีวิตที่ดำมืดเพียงลำพัง และเริ่มที่จะ “รักตัวเอง” น้อยลงไปทุกที

ตัวหนังถือว่าผสานการเล่าเรื่องราวต่างๆ เข้ากับฉากร้อง-เต้น และแทรกเรื่องราวหนักๆ สลับความคึกคักได้ค่อนข้างลงตัว (แม้จะมีบางช่วงที่อารมณ์ค่อนข้างสะดุดหรือเอื่อยๆ อยู่บ้าง) โดยเฉพาะการเลือกเพลง และชุด (ที่อิงจากของจริงแบบเหมือนเป๊ะ) เพื่อสื่อถึงอารมณ์ของเอลตัน จอห์นในแต่ละเหตุการณ์นั้นๆ (ที่หลายๆ ครั้งมาพร้อมกับความแฟนตาซีเว่อร์วัง)ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการแสดง,ร้องและเต้นของทารอน อีเกอร์ตัน ที่สลัดคราบสายลับจากเรื่อง Kingsman มาสวมวิญญาณของเอลตัน จอห์น ในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ช่วยให้คนดูคล้อยตามไปกับอารมณ์ของหนังได้ไม่ยาก

โดยสรุปแล้ว Rocketman อาจจะไม่ใช่หนังที่เน้นเล่าเรื่องแบบตรงๆ เน้นดูง่ายตามแบบหนังสูตรสำเร็จ แต่ก็เป็นหนังที่ดูสนุก, ฉูดฉาด และแฝงแง่คิดดีๆ โดยเฉพาะคนที่ชอบหนังเพลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วน่าจะแอบโยกไปกับเพลงในเรื่องได้ไม่ยาก (ซึ่งเพิ่มอรรถรสด้วยเนื้อเพลงซับไทย ที่ถูกแปลให้จำนวนพยางค์เข้ากับจังหวะของต้นฉบับแบบเป๊ะๆ) แม้ไม่ใช่แฟนเพลงของเอลตัน จอห์น มาตั้งแต่ต้นก็สามารถเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ในหนังได้ไม่ยาก และน่าจะได้เพลงติดหูกลับไปอีกหลายเพลง
